วัสดุมุงหลังคาบ้าน เลือกอย่างไร แบบไหนดี?

วัสดุมุงหลังคาบ้าน เลือกอย่างไร แบบไหนดี?

ในการเลือกวัสดุมุงหลังคาบ้านนั้น นอกจากรูปแบบที่ชื่นชอบซึ่งสอดคล้องกับสไตล์บ้านแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ควรคำนึง เพื่อให้ได้เลือกวัสดุมุงหลังคาที่ถูกใจและใช้
งานได้อย่างเหมาะสม

จะใช้วัสดุมุงหลังคาบ้านแบบไหนดีนั้น เป็นอีกคำถามยอดนิยม เนื่องจากหลังคาเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเนรมิตรูปลักษณ์ภายนอกของบ้านให้สวยงาม เจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยจึงให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุมุงหลังคา แต่จะเริ่มต้นอย่างไรและใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกนั้น อาจลองพิจารณาปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางกันดู

ปัจจัยแรกคือ ความชอบส่วนตัว เจ้าของบ้านหลายท่านอาจมีรูปแบบวัสดุมุงหลังคาบ้านที่ชื่นชอบในใจ อย่างกระเบื้องหลังคาแบบต่างๆ ที่มีรูปทรงและพื้นผิวให้เลือกหลากหลายในท้องตลาด ทั้งแผ่นลอน แผ่นเรียบ  ผิวลายไม้ ผิวมัน ผิวด้าน ฯลฯ ซึ่งเจ้าของบ้านควรพิจารณาควบคู่กับรูปแบบและสไตล์บ้านด้วย อย่างเช่น กระเบื้องรูปทรงข้าวหลามตัดมักเหมาะกับบ้านสไตล์โคโลเนียล (Colonial Style) และไทยประยุกต์  กระเบื้องลายไม้เหมาะกับบ้านสไตล์เนเชอรัล (Natural Style) ซึ่งสอดรับกับวัสดุธรรมชาติ ส่วนบ้านสไตล์โมเดิร์น (Modern Style) มักเหมาะกับกระเบื้องแผ่นเรียบ นอกจากนี้ ควรเลือกสีของกระเบื้องหลังคา ให้เหมาะสมกับสีของตัวบ้านด้วย  เช่น บ้านที่ทาสีโทนมืด อาจเลือกกระเบื้องหลังคาสีอ่อนสว่างหรือสีสดใส เพื่อให้ดูไม่มืดทึบจนเกินไป เป็นต้น

เจ้าของบ้านบางท่านอาจนึกไม่ถึงว่า ชนิดของวัสดุมุงหลังคาบ้านมีผลต่อปัจจัยที่ควรคำนึงด้วย ยกตัวอย่างเช่น วัสดุมุงหลังคาแต่ละชนิดมีค่ากันความร้อนแตกต่างกัน กระเบื้องหลังคาคอนกรีตมีจุดเด่นที่ความแข็งแรงของเนื้อวัสดุ กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์มีความแข็งแรงภายใต้รูปทรงที่บางเบากว่ากระเบื้องหลังคาชนิดอื่น (โดยรุ่นที่มีผิวลายไม้จะดูคล้ายไม้ธรรมชาติมาก) กระเบื้องหลังคาเซรามิกมีพื้นผิวมันเงาทำให้น้ำฝนชะล้างคราบสกปรกได้ง่าย (Self Cleaning) ผนวกกับวิธีเคลือบสีที่ชลอการซีดจางได้ดี จึงดูใหม่เงางามนานกว่ากระเบื้องหลังคาชนิดอื่น ส่วนกระเบื้องหลังคาดินเผาซึ่งเหมาะกับบ้านสไตล์ย้อนยุคจะถ่ายทอดความสวยงามตามกาลเวลา เป็นต้น

อีกปัจจัยสำคัญที่เจ้าของบ้านควรคำนึงคือ ความชันหลังคา โดยวัสดุมุงหลังคาแต่ละรุ่นจะมีความชันหลังคาขั้นต่ำที่เหมาะสมแตกต่างกันไป (หากมุงที่ความชันต่ำกว่ามาตรฐานจะเสี่ยงต่อปัญหาน้ำรั่วซึมได้) โดยทั่วไปกระเบื้องหลังคาแผ่นลอนมักมุงที่ความชันหลังคาต่ำๆ ได้มากกว่ากระเบื้องหลังคาแผ่นเรียบ เช่น กระเบื้องหลังคาเซรามิกรุ่นแผ่นลอน จะมุงกับความชันหลังคาต่ำสุดได้ที่ 17 องศา ในขณะที่รุ่นแผ่นเรียบเหมาะกับการมุงที่ความชัน 25-40 องศา เป็นต้น

สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์นซึ่งเหมาะกับกระเบื้องหลังคาแผ่นเรียบนั้น หากติดปัญหาเรื่องความชันหลังคาต่ำเกินไปก็อาจหันมาเลือกใช้วัสดุอื่นแทน เช่น แผ่นหลังคาเหล็กรีดลอน (Metal sheet) ซึ่งเข้ากับบ้านสไตล์โมเดิร์นได้ง่ายและสามารถมุงหลังคาที่ความชันต่ำมากได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงเรื่องความร้อนและเสียงดังที่อาจรบกวนการอยู่อาศัยด้วย (โดยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกชุก) โดยอาจหาฉนวนกันเสียงและฉนวนกันความร้อนมาติดตั้งเพิ่มเติม

กรณีที่เจ้าของบ้านต้องการติดตั้งอุปกรณ์เสริมบนหลังคาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทั่วไป อย่างอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม อุปกรณ์บอกทิศลม กระเบื้องโปร่งแสงสำหรับทำ Sky light แผ่นปิดลอนกระเบื้องกันนก ระบบครอบหลังคาแบบแห้ง (Dry tech system) กันรั่วซึม ชุดอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แผ่นสะท้อนความร้อนที่มีฉนวนใยแก้วด้านใน ไปจนถึงชุดอุปกรณ์สำหรับระบบกลไกลดความร้อนและระบายอากาศในบ้าน เช่น ระบบหลังคาเย็น Cool roof system  ระบบ Active AIRflow™ System เป็นต้น ทั้งนี้ แนะนำให้เลือกกระเบื้องหลังคารุ่นที่เหมาะกับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ต้องการ (ควรปรึกษาผู้ผลิตก่อนเลือกซื้อ) และจะให้ดีควรเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งกับกระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่าย แน่นหนา ช่วยป้องกันปัญหารั่วซึมจากการเจาะติดตั้งผิดวิธีได้

จะเห็นได้ว่าเมื่อใช้ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นเกณฑ์ การเลือกวัสดุมุงหลังคาบ้านก็ดูจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับเจ้าของบ้าน โดยนอกจากจะพิจารณาถึงรูปแบบสไตล์บ้าน ความชอบส่วนตัว ชนิดวัสดุ ความชันหลังคา และอุปกรณ์เสริม แล้ว แนะนำให้ลองพิจารณาเรื่องบริการติดตั้ง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์เสริมด้วย ซึ่งบางครั้งเป็นชุดอุปกรณ์เฉพาะที่ช่างทั่วไปไม่คุ้นเคย จึงอาจติดตั้งได้ไม่สมบูรณ์จนเกิดปัญหาการใช้งานในภายหลังได้ ดังนั้น การใช้บริการจากผู้ผลิตที่ขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งครบวงจรอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่ามาก

ข้อมูลจาก scgbuildingmaterials.com

BS Shop Director
We will be happy to hear your thoughts

Leave a reply

บีลีฟซอร์สซิ่ง ตลาดกลางค้าวัสดุก่อสร้าง บ้าน อาคาร
Logo